Movies Battle Ship 2012

เรือประจัญบาน หรือแบทเทิลชิป (Battleship) คือเรือรบที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ติดอาวุธหนักและอุปกรณ์สงครามครบครัน จัดว่าทรงอานุภาพที่สุดในบรรดาเรือสงครามด้วยกัน ซึ่งคอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียล โดยทีมงานนิตยสารต่วย'ตูนหนนี้จะได้นำเอาเรื่องของเรือประจัญบานมาเสนอให้อ่านกันครับ

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง เรือประจัญบาน เป็นเรือที่ทรงอำนาญสูงสุดด้วยอำนาจการยิงที่รุนแรง ปืนใหญ่นานาขนาดถูกบรรจุลงไปในเรือจนแทบจะไม่มีที่ว่าง ปืนใหญ่หลักของเรือประจัญบานจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางสิบสี่นิ้วขึ้นไป ปืนใหญ่เรือที่ใหญ่ที่สุดเป็นของจักรพรรดินาวีญี่ปุ่นเส้นผ่าศูนยกลางสิบแปดนิ้ว ปืนใหญ่รองมีขนาดลดหลั่นลงมานับสิบกระบอก เสริมด้วยปืนใหญ่ที่มีขนาดเล็กลงมาอีกจนถึงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางสามนิ้ว วึ่งถือว่าเป็นปืนใหญ่ที่สามารถยิงต่อสู้อากาศยานได้ด้วย ส่วนปืนที่มีขนาดเล็กกว่านี้ถือว่าเป็นปืนต่อสู้อากาศยานโดยตรง

ข้อเสียเพียงหนึ่งเดียวของเรือชนิดนี้คือมีราคาแพงมาก แพงทั้งค่าต่อเรือ อัตราสิ้นเปลือง และค่าเบี้ยเลี้ยงกำลังพล ทำให้บางครั้งและหลายครั้งเรือประจัญบานไม่เหมาะที่เอาไปปฏิบัติภารกิจที่มีความสำคัญน้อย ไม่ควรขี่ข้างจับตั๊กแตนว่าอย่างนั้นเถอะ

นอกจากเรือประจัญบานแล้ว ในกองเรือของชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ยังมีเรือที่ทรงอานุภาพอีกมาก ซึ่งจะขอยกตัวอย่างบางส่วนมาให้ทัศนากันพอได้ตื่นตาตื่นใจ

เรือลาดตระเวน (Cruiser) ขนาดเล็กกว่าเรือประจัญบานลงมาหน่อยหนึ่ง ทำหน้าที่ได้เหมือนเรือประจัญบานในราคาเพียงครึ่งเดียว มีปืนใหญ่พอที่จะทำลายเรือของฝ่ายตรงข้ามได้ทุกประเภท ยกเว้นแต่เรือประจัญบาน นักแปลไทยมักสับสนกับเรือตรวจการณ์ (Patrol Boat) ซึ่งมีขนาดเล็กกว่ามาก เรือประเภทหลังนี้ปฏิบัติงานไม่ห่างจากฝั่งมากนัก


เรือพิฆาต (Destroyer) มีขนาดย่อมลงมาจากเรือลาดตระเวน แต่ยังมีขนาดใหญ่พอที่จะเดินสมุทรได้ เรือประเภทนี้ถือได้ว่าเป็นม้างานของกองทัพเรือ ออกแบบให้เหมาะกับงานแต่ละประเภท เช่น พิฆาตปราบเรือดำน้ำ พิฆาตคุ้มกัน

เรือฟริเกต (Frigate) ขนาดย่อมลงมากว่าเรือพิฆาตเล็กน้อย ออกแบบมาเพื่อใช้งานเช่นเดียวกับเรือพิฆาต แต่ลำเล็กกว่า จึงลดต้นทุนในการรบได้มากกว่า

เรือปืน (Gun Ship หรือ Gun Boat) ขนาดอาจจะใหญ่กว่าหรือเล็กกว่าเรือฟริเกตเล็กน้อย มีปืนเป็นอาวุธหลัก ซึ่งเป็นอาวุธที่มีต้นทุนน้อยกว่าอาวุธชนิดอื่นๆ เหมาะสมในการระดมยิงชายฝั่ง

ในยุคสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง หน้าที่ของเรือประจัญบานคือทำลายเรือฝ่ายตรงข้ามทุกชนิด ข้าศึกที่ทัดเทียมมีแต่เรือประจัญบานด้วยกันเท่านั้นเรียกได้ว่าเป็นเจ้าทะเลแห่งยุคโดยแท้จริง


แต่เมื่อมาถึงสงครามแปซิฟิก (นักการทหารจะแยกสงครามที่รบกับญี่ปุ่นออกจากสงครามที่รบกับเยอรมันและอิตาลีเป็นอีกสงครามหนึ่ง เพียงแต่เป็นสงครามที่ต่อเนื่องกัน) ญี่ปุ่นได้เป็นผู้เปิดฉากการรบแบบใหม่ขึ้น เป็นการรบที่เรือของทั้ง 2 ฝ่ายไม่เห็นตัวกัน แต่สามารถส่งอาวุธไปทำลายกันได้ อาวุธนั้นคือเครื่องบิน

ในการศึกครั้งนั้น เรือรีพัลล์และปรินซ์ ออฟ เวลล์ของอังกฤษจมลงด้วยการโจมตีของเครื่องบินจากเรือบรรทุกเครื่องบิน ทางตอนใต้ของอ่าวไทยโดยที่ไม่มีทหารบนเรือคนใดเห็นเรือรบของญี่ปุ่นเลย

จากนั้นรูปแบบของสงครามทางเรือก็เปลี่ยนไป ทั้งสหรัฐฯ และญี่ปุ่นต่างให้ความสำคัญกับเรือบรรทุกเครื่องบิน ชิงโจมตีฝ่ายตรงข้ามตั้งแต่ระยะไกล ความสำคัญของเรือประจัญบานจึงลดลงไปแม้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะนำเรือประจัญบานออกมาปฏิบัติการรบแต่ผู้ยิ่งใหญ่แห่งท้องทะเลกกลายเป็นอดิต เมื่อไม่สามารถป้องกันตนเองจากเครื่องบินที่แห่แหนกันมารุมโจมตีได้

ปัจจุบันมีเพียงสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่ยังมีเรือประจัญปานประจำการอยู่ในกองทัพ แต่กระนั้นก็ยังต้องซีลเก็บไว้ 2 ลำ นำออกมาใช้งานเพียง 2 ลำ ซึ่งทั้ง 2 ลำนี้ได้รับการปรับปรุงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอาวุธใหม่เพื่อให้เป็นเรือที่ทันสมัยพอที่จะเข้าสู่สงครามยุคใหม่

อาวุธที่เพิ่มเข้ามามีทั้งขีปนาวุธระยะไกล ปืนต่อสู้อากาศยานที่มีความถี่ในการยิงสูงกว่าอาวุธต่อสู้อากาศยานแบบเก่าถึงร้อยเท่า แต่ดูเหมือนว่าภารกิจหลักของเรือประจัญบานจะเป็นเพียงอวดความน่าเกรงขามเก่าๆ เท่านั้น

เพราะสงครามในปัจจุบันแตกต่างไปจากสงครามโลกครั้งที่สองมากมาย เรือใหญ่เกราะหนักไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เรือที่ยิงแม่นและเอาตัวรอดจากการโดนยิงได้ดีต่างหากที่มีความเหมาะสมมากกว่า ดังนั้น เรือรบในปัจจุบันจึงไม่ใหญ่ไปกว่าเรือลาดตระเวนเบา (เรือลาดตระเวนที่ไม่ติดตั้งเกราะ)

เรือรบขนาดเรือพิฆาตกลายเป็นเรือที่มีความเหมาะสมทั้งด้านความทนทะเลและราคา แต่กระนั้นก็มีกองทัพเรือไม่กี่ชาติเท่านั้นที่มีเรือระดับนี้ใช้

อาวุธหลักของเรือพิฆาตในปัจจุบันมีจำนวนน้อยกว่าสมัยสงครามโลกหลายเท่า แต่กลับมีอัตราการยิงที่สูงกว่าและแม่นยำกว่าหลายเท่าเช่นกัน เช่น

ระบบต่อสู้อากาศยานระยะไกล เอจีส สามารถยิงเครื่องบินข้าศึกที่ระยะมากกว่าสองร้อยไมล์ให้ร่วงลงมาก่อนที่นักบินจะเห็นเรือด้วยซ้ำ

หากเครื่องบินข้าศึกยังฝ่าแนวป้องกันเข้ามาได้อีกก็จะเจอกับขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานระยะกลาง และถ้าหากยังฝ่าเข้ามาได้อีกก็จะเจอกับระบบต่อสู้อากาศยานระยะประชิดที่ไม่ได้มีไว้ต่อสู้เครื่องบินเหมือนเมื่อสมัยก่อนแต่ถูกออกแบบมาให้ยิงใส่ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงที่พุ่งตรงมาที่เรือต่างหากโดยใช้เรดาร์ควบคุมปืนหลายลำกล้องที่มีอัตราการยิงถึงหกพันนัดต่อนาที จากการทดลอง สามารถยิงหัวกระสุนปืนใหญ่ที่ยิงมายังเรือตกก่อนที่จะถึงเรือด้วยซ้ำ

ปืนใหญ่เรือก็ไม่ได้ใหญ่โตเหมือนก่อน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางลำกล้องเพียง 5 นิ้ว แต่มีความแม่นยำชนิดนัดเดียวจอด และมีความเร็วในการยิงถึงสี่สิบนัดต่อนาที เพื่อต่อสู้กับเป้าหมายมากกว่าห้าเป้าพร้อมกันทั้งเป้าผิวน้ำและอากาศยาน โดยคอมพิวเตอร์จะเลือกยิงเป้าหมายที่เป็นอันตรายต่อเรือมากกว่าก่อนโดยอัตโนมัติ

เรื่องของเรือประจัญบานที่ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์นั้นก็มีอยู่หลายเรื่อง เรื่องแรกได้แก่"เรือรบโปเต็มกิน (Potemkin Battleship)" เป็นหนังเงียบ โดยผู้กำกับและนักเขียนบทรัสเซีย สร้างจากเรื่องราวการแข็งข้อของลูกเรือบนเรือประจัญบานโบเต็มกินในปี1905ผนวกกับเหตุการณ์สังหารหมู่ราษฎรรัสเซียที่เมืองโอเดสสา (Odessa)

ด้วยเหตุที่หนังเรื่องนี้มีเรื่องราวที่สนับสนุนการปฏิวัติ ก็เลยโดนห้ามฉายในยุโรปเกือบทุกประเทศนานหลายปี แม้แต่จะฉายดูกันเองในบ้านก็ต้องขออนุญาตทางการเสียก่อนกว่าจะเข้าฉายที่กรุงลอนดอนได้ก็โน่น...ปลายปี 1929

ส่วนเรื่องที่ 2 สร้างในปี ค.ศ.1960 แม้จะเป็นระบบเสียงในฟิล์มแล้ว แต่ก็ยังเป็นหนังขาวดำในชื่อ "Sink the Bismarck" เป็นหนังสงครามที่อังกฤษสร้างขึ้นจากบทประพันธ์เรื่อง "เก่าวันสุดท้ายของบิสมาร์ค" ของ ซี.เอส.ฟอเรสเทอร์

ฉากสำคัญของเรื่องนี้คือการปะทะระหว่างกองเรือเยอรมันกับอังกฤษ ซึ่งมีที่มาจากเรื่องจริง "บิสมาร์ค (Bismarck)" เรือประจัญบานลำใหญ่ที่สุดและทรงอานุภาพที่สุดในสงครามโลกครั้งที่ 2 ใช้ปืนเรือขนาดยักษ์ยิงเรือรบหลวงฮูด (HMS Hood) จมลงอย่างง่ายดายจนกองทัพเรืออังกฤษตกตะลึงพรึงเพริด จากนั้นบิสมาร์คก็แล่นอ้าวมุ่งไปยังชายฝั่งฝรั่งเศสที่เยอรมันยึดครอง อังกฤษส่งเรือบินรบโจมตีด้วยมุ่งหวังจะทำให้บิสมาร์คเสียหายและแล่นช้าลง ซึ่งก็สำเร็จ เมื่อตอร์ปิโดลูกหนึ่งพุ่งชนหางเสือบิสมาร์คจนไม่สามารถบังคับทิศทางได้ ทำให้เรือประจัญบานทรงอาณุภาพลำนี้พิการ ได้แต่แล่นเป็นวงกลมวนเวียนอยู่กับที่ จากนั้นหมู่เรือพิฆาตของอังกฤษก็รุม "กินโต๊ะ" บิสมาร์คด้วยตอร์ปิโดท่ามกลางความมืดยามราตรี แต่บิสมาร์คก็สู้แหลก และยิงเรือพิฆาตลำหนึ่งจมลง หากทว่าน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ หลังถูกระดมยิงอย่างหนัก ในที่สุด บิสมาร์คก็ถึงกาลอวสาน

ในปี 1992 มีภาพยนตร์ที่เกียวกับเรือประจัญบานอีกเรื่องหนึ่งชื่อ Under Siege ยุทธการยึดเรือนรก แสดงโดยนักหักกระดูก สตีเวน ซีกัล เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายยึดเรือประจัญบานมิสซูรีเพื่อนำไปใช้เป็นอาวุธก่อนที่จะทำลายทิ้ง ซึ่งก็แน่นอนว่าพระเอกและนางเอกของเราได้ช่วยกันยึดเรือลำนี้คืนจากผู้ก่อการร้ายได้

เรือยูเอสเอส มิสซูรี (USS Missouri) ลำนี้มีประวัติน่าสนใจครับ เพราะเป็นเรือประจัญบานลำสุดท้ายที่สร้างขึ้นโดยสหรัฐฯ ได้ผ่านสมรภูมิมาแล้วหลายครั้ง ทั้งสงครามโลกครั้งที่ 2, สงครามเกาหลี, สงครามอ่าวเปอร์เซีย ที่ต้องบันทึกไว้ก็คือ เรือลำนี้เคยถูกเครื่องบินจากฝูงบินคามิคาเซพุ่งชนมาแล้ว แต่ก็รอดมาได้ และเคยใช้เป็นสถานที่ที่ญี่ปุ่นลงนามยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรในปี 1945 อันเป็นจุดสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2

ปัจจุบันเรือมิสซูรีได้บริจาคให้กับสมาคมอนุสรณ์ ยูเอสเอส มิสซูรี และกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ลอยน้ำอยู่ที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์ ในฮาวาย

กระทั่งในปี 2012 นี้แหละครับที่เราจะได้เห็นเรือมิสซูรีได้แล่นทะยานอีกครั้งในภาพยนตร์เรื่อง “Battle Ship” หนังไซไฟที่สร้างขึ้นจากเกมสงครามทางทะเล ฮัสโบร (Hasbro) เจ้าของเดียวกับทรานฟอร์มเมอร์ที่รู้จักกันดี โดยเปิดเรื่องในขณะที่กำลังมีการซ้อมรบของกองทัพเรือนานาชาติที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์ ในหมู่เกาะฮาวาย ซึ่งก็เป็นเวลาเดียวกับที่เหล่าเอเลี่ยนบุกมาถล่มโลกเปิดศึกใหญ่กับมนุษย์ จัดเป็นอภิมหาโปรเจกต์ที่ผู้สร้างจัดฉากการยุทธเต็มรูปแบบที่สุดเท่าที่เคยสร้างมา ทั้งฉากรบในทะเล กลางเวหา ตลอดจนบนพื้นดิน

เป็นการแสดงความยิ่งใหญ่ของเรือรบประจัญบานในโลกภาพยนตร์อีกคร้ังหนึ่งครับผม

โดย อุดร จารุรัตน์, พัฒนพงศ์ พ่วงลาภหลาย และทีมงานนิตยสารต่วย'ตูน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คาโน่ จิโกโร่ ผู้ก่อตั้งวิชายูโด

ปัญหาสายตา

วิธีติดตั้ง V-Ray for SketchUp 8 (V-Ray 1.48.89)